ประวัติความเป็นมา คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ประวัติความเป็นมาของคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


        คณะการบัญชีและการจัดการ เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะการบัญชีและการจัดการ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2541 มีลักษณะของการดำเนินงานและรูปแบบของการบริหารงานแบบนอกระบบราชการเน้นความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และพึ่งตนเองมากที่สุดในการจัดการศึกษา โดยมีสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุม

         คณะการบัญชีและการจัดการเริ่มต้นจากภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ใน ปีการศึกษา 2538 ได้เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจ (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการตลาดขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จากเดิมที่เปิดสอนเฉพาะวิชาโทบริหารธุรกิจ) โดยจัดสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเป็นโครงการพิเศษ ในปีการศึกษา 2540 ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาการจัดการ และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาการตลาดด้วย

         ในปีการศึกษา 2546 คณะฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรบัญชีบัณฑิต และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิตขึ้น

         ในปีการศึกษา 2547 คณะฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) สาขาวิชาธุรกิจระหว่าง ประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง พร้อมทั้งมีการปรับปรุง หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

         ในปีการศึกษา 2548 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี) ในปีการศึกษา 2549 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (ศ.ม.) สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ

         ในปีการศึกษา 2551 คณะฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จำนวน 6 สาขาวิชา ได้แก่ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขา วิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) และหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต

         ในปีการศึกษา 2553 คณะฯ ได้เปิดโครงการสอบคัดเลือกบุคคลเข้านิสิตปริญญาตรี โครงการพิเศษ ACC.BIZ.SMART เรียน 5 ปี ตรี-โท ประจำปีการศึกษา 2554 ได้แก่
หลักสูตรบัญชีบัณฑิตและหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (ACC-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (BIZ-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (CEO-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (HR-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (IB-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (IT-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (BIT-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (ECOM-SMART)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการตลาด) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด (MK-SMART)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) และหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (ECON-SMART) และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบริหารการเงิน)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (FM-SMART) และหลักสูตรระดับปริญญาโทภาคปกติ หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

         ในปีการศึกษา 2554 คณะฯ ได้เปิดโครงการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ (New.Gen) หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2554 ซึ่งเน้นผู้เรียนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการดำเนินงานด้านบริหารธุรกิจ เน้นการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผนกลยุทธ์ใหม่ๆ และเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด

         ในปีการศึกษา 2555 คณะฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ สาขาวิชาการบริหารการเงิน สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ

         ในปีการศึกษา 2556 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) เรียน 4 ปี 3 ปริญญา จาก 3 ประเทศ ประจำปีการศึกษา 2556 และได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบริหาร ธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการจัดการทรัพยากร มนุษย์ สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการบริหารการเงิน สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (ศ.บ.) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจนับจาก 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 จวบจนถึงปัจจุบัน คณะการบัญชีและการจัดการได้พัฒนาความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิชาการและการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งเน้นการยกระดับการบริหารระบบคุณภาพทั้งระบบบริหารคุณภาพภายในประเทศและสากลมาโดยตลอด และเสริมสร้างให้บุคลากรทุกระดับเกิดความตระหนักรับรู้ ยอมรับ และพัฒนางานของตนให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนปลูกจิตสำนึกเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมมุ่งคุณภาพทั่วทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน กว่า 15 ปี ที่ก้าวเดิน บนเส้นทางการผลิตบัณฑิต และมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน คณะฯ ได้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดออกไปรับใช้สังคมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับประเทศจำนวนมาก ซึ่งบัณฑิตและมหาบัณฑิตของคณะฯ เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ การบัญชี บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ เป็นอย่างดี มีคุณธรรม จริยธรรมที่โดดเด่น และสามารถประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และช่วยเหลือ สนับสนุน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดตั้งศูนย์บริการวิชาการ 6 ศูนย์คือ

         กลุ่มงานที่ 1 ศูนย์เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจ SMEs (SMEs Competence Building Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งและการประกอบการ การบริหารงานของธุรกิจ ขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดกลาง การจัดองค์กรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่ และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการตลาด นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการการประกอบการ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการบริหารการเงิน หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชา การจัดการการตลาด สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการตลาด

         กลุ่มงานที่ 2 ศูนย์พัฒนาวิชาชีพบัญชี (Accounting Professional Development Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบัญชี และภาษีอากรโดยเฉพาะ ได้แก่ การจัดทำบัญชี การวางระบบบัญชี และการภาษีอากร และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการบัญชีและภาษีอากร และการให้บริการเป็นหน่วยตรวจสอบบัญชีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการสอบบัญชีและการตรวจสอบภายใน สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี

         กลุ่มงานที่ 3 ศูนย์ที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Development and Consulting Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การบริหารระบบคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ธุรกิจ และการพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการใช้ซอฟต์แวร์ทางด้านธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศทาง


 กลุ่มงานที่ 4 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจการเกษตรอีสาน (Northeastern Agriculture Business Data Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจการเกษตร การกำหนดแนวทางและการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายธุรกิจการเกษตร การวิจัยธุรกิจการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการเกษตร การสร้างสรรค์นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านธุรกิจเกษตร การตลาดระหว่างประเทศ การตลาดเพื่อการส่งออกธุรกิจการเกษตร และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต

         กลุ่มงานที่ 5 ศูนย์ศึกษาธุรกิจและเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economic and Business Studies Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตชายแดนติดต่อกันกับประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการ ในประเด็นทางการค้า สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ตลอดจนเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้า การวิจัย การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ให้กับผู้ประกอบการภูมิภาคอาเซียนและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้อทางด้านการค้าเสรีและการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลหน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ในหลักสูตรต่อไปนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ

         กลุ่มงานที่ 6 ศูนย์ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (Public and Government Affairs Cooperation Center) มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ภาครัฐและเอกชน ในการบริการวิชาการ การวิจัย การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาทางวิชาการ หรือการวิจัยระดับชาติและนานาชาติ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านงานวิจัย การผลิตผลงานวิชาการ สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบายให้กับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นและหัวข้องานวิจัยที่ได้รับการจัดสรรทุนอุดหนุนงานวิจัยภายนอก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคลากร คณะการบัญชีและการจัดการ คณะบริหาร

Introducing MBS